อธิบายศัพท์
บุพพการี  แปลว่า  บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน ได้แก่บุคคลผู้มีอัธยาศัยเผื่อแผ่    ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรมประจำอยู่ในใจ   ไม่คิดอยากได้แต่ฝ่ายเดียว   ตั้งใจทำอุปการคุณ   จะมากหรือน้อยก็ตาม   โดยไม่หวังตอบแทนแต่อย่างใด   และไม่เกี่ยวกับบุคคลผู้ซื้อขาย   ซึ่งจะต้องมีสิ่งของแลกเปลี่ยนกัน.     บุพพการีโดยทั่วไปท่านกำหนดว่ามี  ๔  ประเภท คือ 
๑.  มารดาบิดา  
๒.  ครู  อาจารย์  อุปัชฌาย์   
๓.  พระมหากษัตริย์
๔.  พระพุทธเจ้า.
มารดาบิดา    ได้ชื่อว่าเป็นบุพพการีของบุตรธิดา   เพราะเป็นผู้ให้กำเนิด
ให้เลือดเนื้อชีวิตจิตใจ   ตลอดถึงให้อาหาร   เครื่องนุ่งห่มเป็นต้นแก่บุตรธิดา
และมีหน้าที่ที่จะต้องบำรุงบุตรธิดาให้เป็นสุขตามหลัก   ๕ ประการ   คือ  
๑.  ห้ามมิให้ทำความชั่ว  
๒.  สอนให้ตั้งอยู่ในความดี
๓.  ให้ศึกษาศิลปวิทยา  
๔.  หาคู่ครองที่สมควรให้  
๕.  มอบทรัพย์สมบัติให้ในสมัย.       
ครู  อาจารย์  อุปัชฌาย์ 
 ได้ชื่อว่าเป็นบุพพการีของนักเรียน ศิษยานุศิษย์    เพราะเป็นผู้มีหน้าที่แนะนำสั่งสอนอบรมให้มีความรู้ความสามารถ  จนกระทั่ง
ตั้งตนเป็นพลเมืองดี    ซึ่งมีหลักที่จะต้องปฏิบัติ  ๕ ประการ  คือ  
๑. แนะนำดี   
๒. ให้เรียนดี  
๓. บอกศิลปให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง  
๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง  
๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย  (คือจะไปทิศไหนก็ไม่ให้อดอยาก)    หน้าที่ทั้ง  ๕  ประการนี้  ครูอาจารย์หรืออุปัชฌาย์   ต้องปฏิบัติให้บริบูรณ์    ถ้าขาดไปแม้เพียงบางข้อบางประการ  ก็ชื่อว่าบกพร่องในหน้าที่ของบุพพการี.
พระมหากษัตริย์    ได้ชื่อว่าทรงเป็นบุพพการีของประชาราษฎร์
เพราะทรงมีหน้าที่ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ผู้อาศัยอยู่ในประเทศให้มี
ความร่มเย็นเป็นสุข   โดยที่พระองค์ต้องทรงปฏิบัติทศพิธราชธรรม   คือ
ธรรมสำหรับพระราชา   ๑๐  ประการ   คือ  
๑.  ทาน 
๒.  ศีล  
๓.  บริจาค
๔.  ความซื่อตรง  
๕.  ความอ่อนโยน   
๖.  คอยกำจัดคนชั่ว   
๗.  ความไม่โกรธ  
๘.  การไม่เบียดเบียน  
๙.  ความอดทน  
๑๐. ความไม่ผิดในทุกกรณีย์.
พระพุทธเจ้า   ได้ชื่อว่าทรงเป็นบุพพการีของพุทธบริษัท   เพราะ
ทรงมีพระมหากรุณาอันกว้างขวางโดยไม่มีขอบเขต   ทรงประทานพระ-
ธรรมเทศนาสั่งสอนเวไนยชน   ด้วยหลัก  ๓  ประการ   คือ 
๑. ทรงห้ามมิให้ทำบาปทั้งปวง  
๒. ทรงสอนให้ทำบุญกุศลทุกอย่าง  
๓. ทรงสอนให้ทำจิตให้ผ่องใส.
           กตัญญู   แปลว่า   ผู้รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นทำแล้วแก่ตน,   กตเวที
แปลว่า   ผู้ประกาศคุณนั้นให้ปรากฏ   ได้แก่ผู้ตอบแทนคุณ.   รวมเป็น กตัญญูกตเวที    แปลว่า   ผู้รู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้วและตอบแทน.
หมายความว่า   ผู้ระลึกถึงอยู่เนือง  ๆ  ซึ่งอุปการคุณ  ที่ท่านบุพพการีนั้น ๆ
ได้กระทำให้แก่ตน     และเมื่อได้โอกาสก็ตอบแทนคุณตามควรแก่ฐานะ
ภาวะและกาลสมัย    เหมือนบุคคลที่กู้หนี้ท่านมา   ครั้นได้เวลาก็ชำระหนี้
ให้ท่าน    คนเราทุกคนที่เกิดมาย่อมชื่อว่าเป็นลูกหนี้   เช่นบุตรธิดาเป็น
ลูกหนี้มารดาบิดา,   นักเรียนศิษย์เป็นลูกหนี้ครูอาจารย์,   ประชาราษฎร์
เป็นลูกหนี้พระมหากษัตริย์,   นักเรียนศิษย์เป็นลูกหนี้พระพุทธเจ้า.  เมื่อ
เป็นลูกหนี้โดยที่เป็นหนี้บุญคุณท่านอยู่เช่นนี้  จึงสมควรที่จะต้องตอบแทน
คุณท่าน  จึงจะชื่อว่าเป็นการเปลื้องหนี้ได้   ผู้ที่เปลื้องหนี้ด้วยการตอบแทน
คุณท่านได้แล้ว   จึงชื่อว่า   กตัญญูกตเวที   โดยทั่วไปท่านกำหนดว่ามี  ๔
ประเภท  คือ 
๑.  บุตรธิดา  
๒.  นักเรียนศิษยานุศิษย์   
๓.   ประชาราษฏร์
๔.  พุทธบริษัท.
บุตรธิดา   เมื่อระลึกถึงคุณมารดาบิดาแล้ว   จึงบำรุงเลี้ยงดูและ
ถนอมน้ำใจท่านมิให้เดือดร้อน    ซึ่งมีหลักแห่งการบำรุง  ๕  ประการ  คือ
๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว   เราต้องเลี้ยงท่านตอบ  
๒. ช่วยทำกิจของท่าน
๓. ดำรงวงศ์สกุลไม่ให้เสื่อมเสียชื่อเสียง   
๔. ประพฤติตนให้เป็นคนสมควรรับมรดก  
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน.
นักเรียนศิษยานุศิษย์   เมื่อระลึกถึงคุณของครูอาจารย์แล้ว   จึงควร
ตอบแทนคุณของท่านตามหลัก   ๕  ประการ  คือ  
๑.  แสดงความเคารพนอบน้อมด้วยการลุกขึ้นยืนรับ  
๒.  คอยรับใช้ไม่ดูดายในเมื่อท่านมีธุรกิจ
๓.  เชื่อฟังคำสั่งสอนไม่ดื้อด้าน   
๔.   อุปฐากบำรุงท่านด้วยการอำนวย ความสุขสบายตามสมควร  
๕.  ตั้งใจเล่าเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ.
ประชาราษฏร์   เมื่อระลึกถึงพระคุณของพระมหากษัตริย์แล้ว  จึง
ควรตอบแทนพระองค์ท่านด้วยการตั้งใจประพฤติตนเป็นพลเมืองดี   ไม่
ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติที่ทรงแต่งตั้งไว้   และมีความจงรักภักดีเคารพบูชา
ด้วยการปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทที่พระราชทานซึ่งมีประการต่าง ๆ.
พุทธบริษัท   เมื่อระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าแล้ว  จึงควรตอบแทนด้วย
การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม    กล่าวคือตั้งใจบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการ
งดเว้นจากข้อที่ทรงห้าม  ทำตามข้อที่ทรงพระอนุญาตทุกประการ.
เมื่อบุคคลมาระลึกถึงหนี้บุญคุณแล้ว  ได้เปลื้องหนี้ด้วยการประพฤติ
ปฏิบัติชอบตอบแทนคุณโดยควรแก่ฐานะ  และถูกต้องตามประเภทดังกล่าว
มา   จึงได้ชื่อว่า   "กตัญญูกตเวที"    โดยสมบูรณ์   ผู้เช่นนี้ย่อมเป็นที่
นิยมชมชอบของคนทั่วไป   เพราะรู้จักคุณความดีที่ผู้อื่นทำไว้แก่ตน   แล้ว
ตอบแทนตามสมควร      และผู้เช่นนี้ย่อมมีความสุขความเจริญยิ่ง  ๆ  ขึ้น
ไม่เสื่อมเลย   พึงดูตัวอย่างสุวรรณสามโพธิสัตว์ยอดกตัญญู  ตั้งใจเลี้ยงดู
มารดาบิดาผู้ตาบอด   แม้ถูกกบิลยักษ์ยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษสลบไปแล้ว
แต่กลับฟื้นคืนชีพมาได้    ด้วยเดชแห่งความกตัญญูกตเวทีแท้ ๆ. 
อนึ่ง อุปติสสปริพาชก   ได้ฟังคำสอนจากพระอัสสชิเถระเพียงนิดหน่อย
ตั้งใจปฏิบัติตามก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล ได้เป็นพระอริยบุคคลทางพระพุทธ-
ศาสนา ต่อมาได้บวชเป็นภิกษุแล้ว ปฏิบัติตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน
จนได้บรรลุถึงพระอรหัตตผล   นับว่าเจริญถึงขั้นสูงสุด   นี้ก็เป็นผลของ กตัญญูกตเวทีเหมือนกัน   และเมื่อท่านทราบว่าพระอัสสชิเถระผู้อาจารย์อยู่
ทิศใด   ก็กราบไหว้แล้วนอนผันศีรษะไปทางทิศนั้นเสมอ   ทั้งนี้ก็เนื่อง
ด้วยความกตัญญูกตเวทีนั่นเอง.
         กตัญญูกตเวทิตา      ความเป็นผู้รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้วและ
ตอบแทน    เป็นเครื่องหมายของคนดี.   คนในโลกนี้มี  ๒  จำพวก    คือ
สาธุชน   คนดี  ๑   อสาธุชน    คนไม่ดี  ๑   ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่อง
หมายของคนดี   ส่วนคนที่ขาดคุณธรรมข้อนี้     ก็แสดงว่าเป็นคนไม่ดี,
เป็นคนอกตัญญู   ใคร ๆ  ไม่ควรคบ.    โบราณท่านสอนกันมาว่า  " แม้
แผ่นดินจะไร้หญ้า      ก็อย่าคบค้าคนอกตัญญู "      มีพระพุทธภาษิตว่า
" ถึงจะให้แผ่นดินทั้งหมด   (คือยกให้เป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน
ทั้งโลก)    ก็ไม่อาจที่จะให้คนอกตัญญูยินดี    มีความรู้สึกบุญคุณได้ "
ทั้งนี้ก็เพราะคนอกตัญญูนั้นไม่รู้บุญคุณของใคร  ๆ   แม้จะให้ทรัพย์สิน
เงินทองที่มีอยู่ในแผ่นดินทั้งหมด     เขาก็ยังไม่รู้จักบุญคุณ   คอยแต่จะ
ประทุษร้ายผู้มีบุญคุณแก่ตนเสียอีก  " ในคราวตกทุกข์ยากก็เข้าหา   ครั้น
สมปรารถนาแล้วเบือนหนี   บางทีก็ทำลาย "   เลี้ยงคนอกตัญญูก็เหมือน
เลี้ยงอสรพิษ   เหมือนชาวนาช่วยเหลืองูเห่าฉะนั้น   เพราะเหตุนี้    ท่านจึง
ห้ามมิให้คบคนอกตัญญู.    ไม้ผุ  ๆ  ที่ลอยน้ำมา   ท่านสอนว่าให้เก็บขึ้นไว้
ทำประโยชน์ได้   ส่วนคนอกตัญญูปล่อยให้น้ำพัดพาไปเสียเถิด       อย่าเก็บ
ไว้เลย.
กตัญญูกตเวทิตาธรรมนี้   ในที่บางแห่งเรียกว่า    " สัปปุริสภูมิ "๑     
คือเป็นภูมิธรรมของสัตบุรุษคือคนดี,    อันคนดีนั้นจะประกอบกรณีย์ใด ๆ ย่อมอาศัยธรรมข้อนี้เป็นหลักเสมอ   ท่านเปรียบไว้ว่า    "พื้นแผ่นดินเป็นที่
รับรอง  เป็นที่อาศัยของสัตว์และพฤกษาลดาชาต   ฉันใด   กตัญญูกต-
เวทิตาธรรม   ก็เป็นพื้นฐานแห่งจิตของสัตบุรุษ   ฉันนั้น. "

๑.   องฺ.  ทุก.  ๒๐/๗๘
อธิบายชื่อหมวดธรรม
บุพพการีและกตัญญูกตเวที  บุคคลทั้ง  ๒  พวกนี้  ชื่อว่า   " บุคคล
หาได้ยาก "   เพราะการที่บุคคลผู้มีหน้าที่ทำอุปการะก่อน   ได้ทำกิจตาม
หน้าที่ก็ดี    แม้ไม่มีหน้าที่ทำอุปการะก่อน    แต่ก็ได้ทำอุปการะก่อนก็ดี
ชื่อว่าบุคคลหาได้ยาก   เพราะคนโดยมากมีน้ำใจตระหนถี่เหนี่ยว   คิดแต่
จะได้ฝ่ายเดียว   ไม่ยอมเสียสละ   ไม่คิดทำอุปการะแก่ผู้อื่น.  ส่วนบุคคล
ผู้ได้รับอุปการะจากผู้อื่นจนได้มีความสุขสบายแล้ว  มีความสำนึกถึงบุญคุณ
ของท่านผู้ให้อุปการะแล้วตอบแทน   ให้สมควรแก่กันนั้น  หาได้ยาก  เพราะ
คนโดยมามักลืมตัว   บางคนก็เพียงแต่นึกถึงบุญคุณได้    แต่ไม่ยอม
ตอบแทน    เหมือนคนกู้หนี้ทั้ง  ๆ ที่รู้ดีอยู่ว่าเป็นหนี้เขา   แต่ไม่ยอมใช้หนี้
คอยหลบหน้าเจ้าหนี้อยู่เสมอไป   คนที่ตั้งใจชำระหนี้บุญคุณจึงหาได้ยาก.
จึงเป็นอันว่าบุพพการีและกตัญญูกตเวทีบุคคล   ทั้ง  ๒  พวกนี้จะได้ปฏิบัติ
หน้าที่ต่อกันให้สมบูรณ์ควบคู่กันไปนั้น   หาได้ยาก   เพราะเป็นการปฏิบัติ 
ที่ทวนกระแสกิเลสของสัตวโลก   ซึ่งมีความโลภ   ความตระหนี่    ความ
เห็นแก่ตัว   ไม่อยากแผ่เผื่อเจือจานแก่ผู้อื่น    ฉะนั้น   การสงเคราะห์ผู้อื่น
ด้วยความเมตตากรุณาก็ดี    การรู้จักคุณแล้วตอบแทนด้วยหวังบูชาคุณก็ดี
จึงเป็นการยาก   ดังนี้แล.

                            คำถามสอบความเข้าใจ        
๑. บุพพการีบุคคล ตั้งอยู่ในคุณธรรมอะไรบ้าง ? มีกี่ประเภท ? คือใคร ?
๒. กตัญญูกตเวทีบุคคล  ได้แก่คนเช่นไร ?   มีกี่ประเภท ?  คือใคร ?
๓. ทางพระพุทธศาสนาท่านกล่าวว่า  คนเราในโลกนี้ แบ่งเป็น ๒ พวก
    คือเจ้าหนี้ ๑ ลูกหนี้ ๑  อยากทราบว่า ใครเป็นเจ้าหนี้ และใครเป็นลูกหนี้ ?
๔. บุคคลเช่นไรจัดเป็นยอดกตัญญู ?  ขอดูตัวอย่าง.
๕. คนดีก็ตาม  คนไม่ดีก็ตาม  มีอะไรเป็นเครื่องหมาย  ?
๖. เพระเหตุไร   ท่านจึงว่าบุพพการีและกตัญญูกตเวทีบุคคลหาได้ยาก  ?
๗. "แม้แผ่นดินจะไร้หญ้า ก็อย่าคบค้าคนอกตัญญู" คำนี้ท่านสอนไว้เพื่ออะไร ?

                             ต้นเอ๋ย   ต้นกล้วย
                        มองดูสวย   โสภา   น่าเลื่อมใส
                        พอมีลูก   ลูกฆ่า   น่าเสียใจ
                        ต้องตายไป   เปื่อยจม   ทับถมดิน.
                                เหมือนร่างกาย   มนุษย์   แม้สุดสวย
                        จำต้องม้วย   ภินน์พัง   ไปทั้งสิ้น
                        ควรรีบทำ   กรรมดี   คู่ชีวิน
                        ถึงชีพสิ้น   ชื่ออยู่  คู่โลกเอย.
                                                        ศรี  ฯ  นคร.
 
หนังสืออ้างอิง : นวโกวาท หน้า ๒๘, ธรรมวิภาค ปริจเฉทที่ ๑ หน้า ๑๓-๑๙.
สาระการเรียนรู้
ธรรมวิภาค
ทุกะ คือ หมวด ๒
ธรรมมีอุปการะมาก
ธรรมเป็นโลกบาล
ธรรมอันทำให้งาม
บุคคลหาได้ยาก
ติกะ คือ หมวด ๓
รัตนะ
คุณของรัตนะ
อาการที่ทรงสั่งสอน
โอวาท
ทุจริต
สุจริต
อกุศลมูล
กุศลมูล
สัปปุริสบัญญัติ
อปัณณกปฏิปทา
บุญกิริยาวัตถุ
สามัญญลักษณะ
จตุกกะ คือ หมวด ๔
วุฑฒิ
จักร
อคติ
อันตราย
ปธาน
อธิษฐานธรรม
อิทธิบาท
ควรทำความไม่ประมาท
ปาริสุทธิศีล
อารักขกัมมัฏฐาน
พรหมวิหาร
สติปัฏฐาน
ธาตุกัมมัฏฐาน
อริยสัจ
ปัญจกะ คือ หมวด ๕
อนันตริยกรรม
อภิณหปัจจเวกข์
เวสารัชชกรณธรรม
องค์แห่งภิกษุใหม่
องค์แห่งธรรมกถึก
ธัมมัสสวนานิสงส์
พละ
นิวรณ์
ขันธ์
ฉักกะ คือ หมวด ๖
คารวะ
สาราณิยธรรม
อายตนะภายใน
อายตนะภายนอก
วิญญาณ
สัมผัส
เวทนา
ธาตุ
สัตตกะ คือ หมวด ๗
อปริหานิยธรรม
อริยทรัพย์
สัปปุริสธรรม
โพชฌงค์
อัฏฐกะ คือ หมวด ๘
โลกธรรม
ลักษณะตัดสินธรรมวินัย
มรรค
นวกะ คือ หมวด ๙
มละ
ทสกะ คือ หมวด ๑๐
อกุศลกรรมบถ
กุศลกรรมบถ
บุญกิริยาวัตถุ
ธรรมที่ควรพิจารณา
นาถกรณธรรม
กถาวัตถุ
อนุสสติ
ปกิณณกะ คือ
หมวดเบ็ดเตล็ด
อุปกิเลส ๑๖
โพธิปักขิยธรรม ๓๗
คิหิปฏิบัติ
จตุกกะ
กรรมกิเลส
อบายมุข
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์
สัมปรายิกัตถประโยชน์
มิตตปฏิรูป
มิตรแท้
สังคหวัตถุ
สุขของคฤหัสถ์
ความปรารถนาที่ได้ยาก
ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย
ตระกูลมั่งคั่ง
ธรรมของฆราวาส
ปัญจกะ
ประโยชน์การถือโภคทรัพย์
ศีล
มิจฉาวณิชชา
สมบัติของอุบาสก
ฉักกะ
ทิศ
- ทิศเบื้องหน้า
- ทิศเบื้องขวา
- ทิศเบื้องหลัง
- ทิศเบื้องซ้าย
- ทิศเบื้องต่ำ
- ทิศเบื้องบน
อบายมุข
- ดื่มน้ำเมา
- เที่ยวกลางคืน
- เที่ยวดูการเล่น
- เล่นการพนัน
- คบคนชั่วเป็นมิตร
- เกียจคร้านทำการงาน